แนวทางการวิจัยเพกทินในอนาคต[1] ของ เพกทิน

การนำเพกทินไปใช้ประโยชน์อาจใช้เพกทินที่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือการพัฒนาเพกทินให้เป็นเกรดที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมยาและ/หรือการรักษา การสกัดและผลิตเพกทินจากมวลชีวภาพ (biomass) หรือของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตร (เช่น เปลือกส้ม เปลือกส้มโอ เปลือกกล้วย เปลือกและกากมะม่วง กากฟักทอง กากแอปเปิล เป็นต้น) รวมถึงการย่อยเพกทินให้ได้เป็นเพคติกโอลิโกแซคคาไรด์นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาวิจัยซึ่งช่วยเพิ่มอรรถประโยชน์ของสารในกลุ่มเพกทินนี้ด้วย อย่างไรก็ตามหากมีการดัดแปรโครงสร้างของเพกทินควรทำการทดสอบความเป็นพิษเพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยเพียงพอก่อนนำไปใช้ รวมถึงการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพด้วย

การวิจัยเพกทินบางประเด็นควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค เช่น ฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะติดของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ (เพื่อใช้รักษาอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ) ฤทธิ์ในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ฤทธิ์ในการยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งบางชนิด รวมถึงการใช้ประโยชน์เป็นพรีไบโอติก (prebiotics) เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ทีมีประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้อาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ต่อไป

ข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับเพกทินช่วยยืนยันว่าเพกทินมีประโยชน์ทั้งในเชิงสุขภาพ การแพทย์และเภสัชกรรม นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในการใช้เพื่อเตรียมตำรับยาและการออกแบบระบบนำส่งยารูปแบบต่างๆ ทั้งชนิดออกฤทธิ์ทันที ชนิดออกฤทธิ์นาน และชนิดไปสู่เป้าหมายเฉพาะที่ในทางเดินอาหาร ซึ่งการออกแบบระบบนำส่งยาสามารถปรับให้เหมาะสมได้โดยการเลือกใช้ชนิดเพกทิน สภาวะในการเกิดเจล สารช่วยอื่นในตำรับและ/หรือสารเคลือบที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ระบบนำส่งยาตามต้องการ ในปัจจุบันงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการหาแหล่งของเพกทินจากธรรมชาติ การพัฒนาวิธีการผลิต การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ และการพัฒนารูปแบบและระบบนำส่งยาที่ใช้ เพกทินกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจึงคาดว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้ใหม่ๆ ในอนาคต